กกท.ยัน 'ไทยไฟต์-บัวขาว' ทำผิดพรบ.มวย

กกท.ยัน 'ไทยไฟต์-บัวขาว' ทำผิดพรบ.มวย



กกท. ระบุ ผู้จัดไทยไฟต์ และ บัวขาว ทำผิดพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 หลังขึ้นเวทีที่พัทยา หากมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน คณะกรรมการกีฬามวยจะดำเนินการสอบสวนทันที...


หลังจาก บัวขาว ป.ประมุข ยอดนักชกชื่อดัง ฝืนขึ้นชกในศึกไทยไฟต์ ที่แหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาคาราคาซังมานานกับหัวหน้าค่าย ป.ประมุข ถึงขนาดจะมีการฟ้องร้องกัน โดยในนัดดังกล่าว บัวขาว ชนะน็อก รัสเท็ม ชารีปอฟ จากรัสเซีย ในยกที่ 2 ท่ามกลางความสะใจของแฟนมวยทั่วประเทศ โดยเจ้าตัวกล่าวหลังจากนั้นว่า ตนทำเพื่อชื่อเสียงของประเทศ แม้รู้ว่าวันรุ่งขึ้นต้องติดคุกก็ยอมนั้น

ล่าสุดนายสกล วรรณพงษ์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ เปิดเผยวันที่ 18 เม.ย. ว่า เรื่องนี้ทั้งผู้จัดและนักชกทำผิดพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ซึ่งเดิมที ผู้จัดส่งหนังสือมาขออนุญาต กกท.จัดรายการดังกล่าว โดยที่มีบัวขาวขึ้นชก แต่ทางค่ายป.ประมุข ได้แย้งเข้ามาว่าไม่ยินยอม กกท.จึงได้แจ้งไปทางผู้จัดว่าไม่สามารถทำได้ ซึ่งผู้จัดได้ส่งหนังสือมาอีกฉบับ ยืนยันว่าจะไม่มีบัวขาวชก ทาง กกท.จึงอนุญาตให้ชกได้ และเมื่อค่าย ป.ประมุขทราบเช่นนั้น ก็ไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว

แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันชก มีบัวขาวที่ผู้จัดระบุว่าเป็นนักชกสำรองขึ้นเวที ก็ถือว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. เนื่องจากเจ้าของค่าย ป.ประมุข ไม่ยินยอม โดย พ.ร.บ.กีฬามวย ข้อ 39 ระบุว่า หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนเป็นการชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ โดยมีกำหนดระยะเวลาที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินครั้งละ 6 เดือน ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะกระทำการใดๆ ตามที่ได้รับจดทะเบียน หรือได้รับอนุญาตในระหว่างนั้นไม่ได้ ขณะที่บัวขาว ในฐานะนักชกที่ค่ายไม่อนุญาตให้ใช้ ป.ประมุข ขึ้นชก ก็ถือว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.มวย ในส่วนของระเบียบคณะกรรมการกีฬามวย ว่าด้วยการสังกัดและย้ายสังกัดค่ายมวย พ.ศ.2544 ข้อ 10 เมื่อเข้าสังกัดค่ายมวยตามระเบียบนี้แล้ว นักมวยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของค่ายมวยที่ตนสังกัดอยู่ และจรรยาบรรณของนักมวยโดยเคร่งครัด และตกลงมอบให้หัวหน้าค่ายมวยมีอำนาจในการกำหนดแผนการฝึกซ้อม รวมถึงการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมการแข่งขัน การเสนอชื่อเข้าร่วมการแข่งขัน การตกลงกำหนดเงินรางวัลในการแข่งขันร่วมกับผู้จัดรายการแข่งขัน และการทวงถามการโต้แย้งสิทธิ์ต่างๆ แทนนักมวย รวมไปถึงข้อ 11 นักมวยที่สังกัดค่ายมวย จะต้องเข้าแข่งขันในนามของค่ายมวยที่ตนสังกัด และใช้ชื่อแข่งขันตามที่กำหนดในสัญญาเท่านั้น กรณีที่นักมวยจะเข้าแข่งขันในนามอื่น เช่น ในนามผู้แทนชาติไทย หรือหน่วยงาน หรือการกุศลในพิธีสำคัญเป็นครั้งคราว ให้กระทำได้โดยความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหัวหน้าค่ายมวยเท่านั้น ทั้งนี้ ในกรณีของนักมวยที่ฝ่าฝืน ก็มีบทลงโทษในลักษณะเดียวกับผู้จัดคือ มีทั้งใบเหลือง ยึดใบอนุญาตการชกชั่วคราว 6 เดือน และใบแดง ยึดแบบไม่มีกำหนด

"อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดขึ้น ตามกฎหมายกีฬามวยระบุว่า จะต้องมีเจ้าทุกข์เข้ามาร้องเรียนก่อน คณะกรรมการกีฬามวยจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งหากมีการร้องเรียนเข้ามาเมื่อไหร่ เราก็จะเดินหน้าสอบสวนเรื่องนี้ตามกระบวนการทันที ที่สำคัญคงต้องดูในเรื่องของสัญญา ทั้งผู้จัดกับนักมวย และค่ายมวยกับนักมวยว่าเป็นอย่างไร โดยอย่างที่ทราบ เรื่องนี้หากทำผิด จะมีการยึดใบอนุญาต ไม่ได้เป็นคดีอาญา จึงไม่ได้มีโทษถึงติดคุกอย่างที่เข้าใจกัน ไม่เหมือนกรณีล้มมวยที่หากผิดจริง จะถูกจำคุกถึง 5 ปี" นายสกล กล่าว

โดย: ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น